3 รางวัล จากงาน NSC 2018

ไอทีลาดกระบังคว้า 3 รางวัลจากงาน NSC 2018

เป็นอีกครั้งที่เด็กไอทีลาดกระบัง ได้พิสูจน์ความสามารถบนเวทีระดับประเทศ ด้วยการคว้า 3 รางวัล จากจากการแข่งขันNational Software Contest: NSC 2018 การแข่งขันทางด้านการพัฒนา Software ในระดับชาติ ที่จัดมาอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ในระดับนักเรียน นิสิต และนักศึกษา และเป็นการพัฒนาทักษะการคิดริเริ่มในการเขียนโปรแกรมอันเป็นรากฐานสำคัญต่อการต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในอนาคต นอกจากนี้ถือเป็นการสร้างเวทีให้เยาวชนได้แสดงออกซึ่งความสามารถทางด้านคอมพิวเตอร์และเทคนิคการเขียนโปรแกรม โดยในปีนี้ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-16มีนาคม 2561ณ ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์

สำหรับในปีนี้ มี 3 ผลงานของกลุ่มนักศึกษาไอทีลาดกระบัง ได้รับรางวัลที่ 3 จาก 3 หัวข้อการแข่งขันดังนี้

รางวัลที่ 3 ในหัวข้อพิเศษ “BEST 2018: การแข่งขันสุดยอดนับจํานวนคนในภาพวิดีโอ (Human Detection Contest)”โดยมี นายฐิติธร เสนีวงศ์ ณ อยุธยา นักศึกษาระดับปริญญาโท เป็นเจ้าของผลงาน พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กิติ์สุชาต พสุภา เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลมีชื่อว่า “มานับกันเถอะ มีกี่คนอยู่ในวิดีโอ” ผลงานชิ้นนี้ได้นำเทคโนโลยี Deep Learning มาใช้ในการ Detection และ Segmentation คนจากแต่ละเฟรมในวิดีโอ จากนั้นจะทำการ Partition แต่ละส่วนของร่างกายคนแต่ละคนมาทำการเปรียบเทียบความคล้ายคลึงโดยใช้ Color Histograms และสุดท้ายจะนำมาทำการ Clustering โดยจำนวนคนที่นับได้ในวิดีโอจะเท่ากับจำนวนกลุ่มที่ทำการจัดกลุ่มได้จากการ Clustering ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการตรวจสอบคนที่เดินเข้า-ออกสถานที่ต่างๆ จากบันทึกภาพวิดีโอของกล้องวงจรปิด

รางวัลที่ 3 ในหัวข้อพิเศษ “การแข่งขันสุดยอดโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ (AI)” โดยมี นายธนวัฒน์ หลอดแก้ว และ นายณัฎฐ์ ชูกําแพง 2 นักศึกษาระดับปริญญาตรี เป็นเจ้าของผลงาน พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กิติ์สุชาต พสุภา เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลมีชื่อว่า “Fashion Finder” เว็บแอพพลิเคชั่นสำหรับค้นหาร้านค้าบนอินสตาแกรม โดยใช้รูปภาพสินค้าแทนการค้นหาด้วย Keyword ข้อความ ผลงานชิ้นนี้ได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Convolutional Neural Network (CNN) หนึ่งในประเภทของ Deep Learning Algorithm ที่ถูกใช้งานอย่างมากทางด้าน Computer Vision ในปัจจุบัน

รางวัลที่ 3 ในหัวข้อ “โปรแกรมเพื่องานการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเภทนิสิต นักศึกษา” โดยมี นางสาวอมิตา มงคลปรีดาไชย และ นายไตรศักดิ์ ไตรเสนีย์ 2 นักศึกษาระดับปริญญาตรี เป็นเจ้าของผลงาน พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรพงศ์ ลีลานุภาพ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลมีชื่อว่า “MR-Chain – Blockchain as a Service for Medical Record” หรือ “เอ็มอาร์เชน – ระบบควบคุมการเข้าถึงข้อมูลผู้ป่วยโดยใช้บล็อกเชน”โดย MR-Chain เป็นแพลตฟอร์มสำหรับนักพัฒนาระบบที่พัฒนาเว็บไซต์ให้กับทางโรงพยาบาลได้เรียกใช้ โดยมีเทคโนโลยีที่ควบคุมอยู่เบื้องหลังคือ Smart Contract ในบล็อกเชน ซึ่งเป็นการนำจุดเด่นของบล็อกเชนมาใช้ในการเก็บข้อมูลการรักษาของผู้ป่วย รวมถึงควบคุมสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ อีกทั้งยังได้พัฒนา Decentralized Application ที่ทำงานบนแพลตฟอร์มนี้ ส่วนสำคัญที่ผู้ป่วยจะได้รับคือสิทธิ์ในความเป็นเจ้าของข้อมูลอย่างเต็มที่ โดยสามารถตรวจสอบและติดตามการนำข้อมูลไปใช้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่จะเข้าถึงข้อมูลผู้ป่วยในระดับต่างๆได้ จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากผู้ป่วยเสียก่อน