ทางรถไฟสายมรณะ    (   Burma Railway   )

ทำไมสะพานข้ามแม่น้ำแคว จึงเป็นชื่อที่รู้จักโด่งดังไปทั่วโลก มันมิใช่เพราะความอลังการ หรืองดงามตระการตาใด ๆ  หากแต่ คำตอบแท้จริง มันคือความโหดร้ายทารุณ ที่เกิดขึ้นในอดีต อันขมขื่น  ณ ที่แห่งนั้น ความเศร้าสลดสยดสยอง ที่เกิดขึ้น จนกลายเป็นประวัติศาสตร์ ยากที่จะหาใดเสมอเหมือนได้นั้น แท้จริง มันอยู่บนเส้นทางรถไฟ ที่ทอดผ่านสะพานข้ามแม่น้ำแควแห่งนี้ ซึ่งมีระยะทางยาวไม่กี่ร้อยกิโลเมตร ที่ใช้เวลาสร้างอันรวดเร็ว และสำคัญที่สุด ก็คือ ต้องสูญเสียชีวิตคนไปถึงหนึ่งแสนคน เจ็บป่วย และพิการ อีกหลายหมื่นคน เพราะความโหดร้ายทารุณ จนทางรถไฟสายนี้ ถูกเรียกว่า “ทางรถไฟสายมรณะ”

ทางรถไฟนี้ เดิมญี่ปุ่น มีเป้าหมายจะให้เสร็จสมบูรณ์ ในเดือนพฤสจิกายน แต่ปรากฏว่า ญี่ปุ่นสามารถสร้างได้เสร็จก่อนกำหนด 1 เดือน ในวันที่ 25 ตุลาคม  พ.ศ. 2486 จึงเป็นวันฉลองความสำเร็จ ของทหารพระจักรพรรดิ

ประวัติทางรถไฟสายมรณะ

ก่อนที่จะเป็นทางรถไฟสายมรณะ  วันที่  1  ธันวาคม  พ.ศ. 2484  ญี่ปุ่นประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกา  อังกฤษ  เนเธอร์แลนด์ และจีน หลังจากนั้นกองทัพอันมหาศาลของพระจักรพรรดิ ก็เคลื่อนพล แบบสายฟ้าแลบ บนน่านน้ำแปซิฟิก  กำลังทางอากาศจากเรือบรรทุก เครื่องบิน ได้บินขึ้นถล่มฐานทัพเรือใหญ่ของสหรัฐฯ  ที่อ่าวเพิร์ลฮาเบอร์ เกาะฮาวาย จนแหลกลาญ  ขณะเดียวกัน กองทัพญี่ปุ่น ก็บุกขึ้นเกาะต่าง ๆ  อีกหลายแห่ง ทั้งชวา ฟิลิปปินส์  สิงคโปร์  มลายู  และอินโดจีน  ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย  สำหรับไทย ญี่ปุ่น ได้ยื่นบันทึกต่อรัฐบาล เพื่อขอเดินทัพผ่าน เพื่อไปโจมตีนอังกฤษ ที่ตั้งฐานทัพ อยู่ที่มลายูและพม่า จึงขออย่าให้ไทยขัดวาง  โดยญี่ปุ่น ให้การรับรองว่า จะไม่ทำลายอธิปไตยของไทย

แต่ในระหว่างเจรจาหาข้อตกลง กองเรือรบญี่ปุ่น ได้เคลื่อนเข้าอ่าวไทายแล้ว ในคืนวันที่  7  ธันวาคม  พ.ศ. 2484 และส่งหน่วยรบขึ้นบก ตลอดแนวฝั่งทะเล ด้านตะวันออกของไทย  การบุกรุกดินแดนแบบจู่โจม ทำให้เกิดการต่อสู้กัน อย่างนองเลือด ระหว่างหน่วยทหาร  ตำรวจ  และยุวชนทหารกับกองทัพทหารญี่ปุ่น ทุกจุดที่บุกขึ้นมา  มีการปะทะกันอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่ปัตตานี  สงขลา  นครศรีธรรมราช  และประจวบคีรีขันธ์  ทำให้บาดเจ็บล้มตายกันมากมายทั้งสองฝ่าย

จนถึงเวลา 6.50 น. ของวันที่  8  ธันวาคม  พ.ศ. 2484  ญี่ปุ่น ก็ได้ยื่นบันทึก ถึงรัฐบาลไทยอีก ซึ่งเป็นคำแถลงในสภาพิเศษของนายพลโตโจ  แม่ทัพญี่ปุ่น มีอยู่ ทั้งหมด  3  ข้อ  ในข้อที่  3  นั้นเกี่ยวโยงกับไทยโดยตรง คือ

          “รัฐบาลญี่ปุ่น ได้พยายามที่จะกระทำทุกทางแล้ว ด้วยสันติวิธี ในการเจรจา ที่กรุงวอชิงตัน แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ จึงจำเป็นต้องทำสงครามกัน และนอกจากนั้น ถ้าจะมองดูสงครามทางด้านยุโรปแล้ว จะเห็นได้ว่า สงครามได้ใกล้เข้ามา จะถึงอิรัก และอิหร่านอยู่แล้ว น่ากลัวว่าอาจลุกลามมาถึงประเทศไทยได้ เพราะฉะนั้น พวกเราชาวเอเชีย จะต้องร่วมมือกัน เพื่อทำให้เอเชีย เป็นของคนเอเชีย บัดนี้ ประเทศญี่ปุ่น ได้เตรียมสู้รบกับข้าศึกของเราแล้ว  ไม่ใช่จะมาต่อสู้กับคนไทยเลย ถึงแม้จะมีการต่อสู้กัน และกองทัพญี่ปุ่น ได้ผ่านประเทศไทยไปแล้ว ญี่ปุ่น ก็จะไม่ถือว่า ไทยเป็นข้าศึก แต่ถ้าหาว่า ไทยจะร่วมมือเป็นอันหนึ่งอันเดียว กับญี่ปุ่นแล้ว  คำว่า เอเชียเป็นของคนเอเชีย ก็จะเป็นอันสำเร็จผลแน่ และประเทศไทย อันเป็นประเทศเอกราชอยู่แล้วนั้น ก็จะเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว สิ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นของจากไทยคือ ขอให้กองทัพของญี่ปุ่น ผ่านผืนแผ่นดินไทยไป เท่านั้น  ทั้งนี้ ก็ด้วยความจำเป็นทางยุทธศาสตร์ เพราะฉะนั้น จึงใคร่ของความสะดวก โดยขออย่าให้กองทัพทั้งสองต้องมารบกันเองเลย เพราะญี่ปุ่น ไม่ถือว่าไทยเป็นศัตรู  จึงหวังว่า ไทยจะมีความสามัคคีร่วมมือกับญี่ปุ่น ในความจำเป็นครั้งนี้ กับขอให้จัดกำลังตำรวจ ระวังรักษาชาวญี่ปุ่น ที่พำนักอยู่ในประเทศไทยทั่วไปด้วย”

รัฐบาลไทย ได้เปิดประชุมด่วนอย่างเคร่งเครียด พิจารณาจากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งนอกประเทศ และภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสู้รบตามแนวฝั่งทะเล ไทยมีแต่เสียเปรียบ ในที่สุด จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี จึงตัดสินใจสั่งให้หยุดยิง และระงับการต่อสู้ทุกด้าน ยอมให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านได้ เมื่อเวลา 7.30 น. ของวันที่  8  ธันวาคม  พ.ศ.  2484    ถึงรุ่งขึ้นกลางปี พ.ศ. 2485  ญี่ปุ่นก็ประสบชัยชนะในแปซิฟิก และเอเชียอาคเนย์ โดยสิ้นเชิง

ระยะแรก ๆ  นั้น  ญี่ปุ่น ได้ลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ และเสบียงต่าง ๆ  จากสิงคโปร์ ผานช่องแคบมะละกา ไปยังเมาะละแหม่ง และร่างกุ้ง ประเทศพม่า แต่การลำเลียงทางทะเล ถูกโจมตีจากการทิ้งระเบิดของเครื่องบินฝ่ายพันธมิตร อยู่ตลอดเวลา ญี่ปุ่นจึงเปลี่ยนเส้นทางลำเลียงเป็นทางบก โดยการสร้างทางรถไฟ ให้เชื่อมต่อกัน จากสิงคโปร์ขึ้นมาทางสงขลา ถึงกรุงเทพฯ และผ่านไปกาญจนบุรี เพื่อเข้าพม่าทางเมาะละแหม่ง และร่างกุ้ง

บรรดาเชลยศึกประเทศพันธมิตร ที่ญี่ปุ่นกวาดต้อนมาจากฟิลิปปิสน์  อินโดนียเซีย  สิงคโปร์  มลายู และกรรมกร ทั้งไทย  จีน  แขก  ซึ่งมีจำนวนรวมประมาณ 170,000 คน ส่วนหนึ่ง ต้องเสียชีวิตลง เพราะความโหดร้ายทารุณ ทั้งจากทหารญี่ปุ่น และจากภัยธรรมชาติถึงแสนคน ยังที่ต้องพิกลพิการอีกนับหมื่น เพียงเพื่อสร้างทางรถไฟสายเดียวที่ยาว ไม่กี่ร้อยกิโลเมตร นับว่าเป็นโศกนาฏกรรม อันใหญ่หลวงของมนุษย์โลก ที่ใคร ๆ  ก็ไม่สามารถลบ ออกไปจากความทรงจำได้ และที่กล่าวกันนั้น ไม่เกินไปจากความจริงเลย

“ทางรถไฟสายนี้ ฝ่ายพันธมิตร ต้องสูญเสียไป 1 ศพ ต่อ 1 ไม้หมอนที่รองรางรถไฟ”