Hellfire Pass

ช่องเขาขาด หรือ ช่องไฟนรก เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟสายไทย-พม่า (ทางรถไฟสายมรณะ) ตลอดเส้นทางรถไฟสายไทย-พม่า มีหลายจุดที่มีเนินหิน ภูเขา หน้าผา หรือหุบเหว ขวางอยู่จึงต้องขุดให้เป็นช่องเพื่อที่รถไฟสามารถวิ่งผ่านไปได้ ซึ่งที่ช่องเขาขาด หรือ ช่องไฟนรก เป็นจุดที่ใหญ่ที่สุดบนเส้นทางนี้ การขุดเจาะช่องเขาขาดเริ่มในเดือนเมษายนปี พ.ศ. 2486 ปรากฏว่างานล่าช้ากว่ากำหนดจึงมีช่วงที่เร่งงานซึ่งแรงงานแต่ละกะต้องทำงานถึง 18 ชั่วโมง โดยงานส่วนใหญ่ล้วนใช้แรงคนทั้งสิ้น เช่นการสกัดภูเขาด้วยมือ ซึ่งเป็นการทำงานที่ทารุณยิ่ง เนื่องจากต้องปีนลงไปสกัดในช่องเขาซึ่งบางช่วงสูงถึง 11 เมตร จนแทบไม่มีอากาศหายใจทั้งยังต้องทำงานท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าวในช่วงเดือนมีนาคม ในภาวะขาดแคลนน้ำและอาหาร เมื่อเจ็บป่วยแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ก็ไม่เพียงพอต่อการรักษา เชลยศึกและกรรมกรที่ช่องเขาขาดต้องทำงานตอนกลางคืนด้วยแสงไฟจากคบเพลิงและกองเพลิงทำให้สะท้อนเห็นเงาของเชลยศึกและผู้คุมวูบวาบบนผนัง ทำให้ที่นี่ได้รับการขนานนามว่า “ช่องไฟนรก” หรือ Hellfire Pass ในภาษาอังกฤษ “ช่องไฟนรก” (Hellfire Pass) หรือ “ช่องเขาขาด”

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2484 สงครามแปซิฟิกเริ่มก่อตัวขึ้น กองทัพญี่ปุ่นบุกโจมตีเพิร์ล ฮาร์เบอร์ เกาะฮาวาย และบุกเข้ามาเลเซีย ตอนกลางปี 2485 จากนั้นกองทัพญี่ปุ่นต่อสู้กับกองทัพอังกฤษในพม่า แต่เป้าหมายหลักคือรุกรานเข้าอินเดีย แต่ญี่ปุ่นรู้ดีว่าถ้าใช้เส้นทางเดินเรือ ขนอาวุธยุทโธปรณ์นั้น เสี่ยงต่อการถูกโจมตีทางอากาศ จึงตัดสินใจสร้างทางรถไฟตัดผ่านประเทศไทย ที่ในขณะนั้นเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น เริ่มต้น จากบ้านหนองปลาดุก อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ผ่าน จังหวัดกาญจนบุรีไปสู่ชายแดนไทยพม่าตรง“ด่านพระเจดีย์สามองค์”ไป เมืองตันบีอูซายัด ในพม่า โดยเริ่มแรกในการก่อสร้างนั้น ใช้แรงงานของกรรมกรชาวแขก พม่า มาเลเซีย อินโดนิเซีย จีน และคนไทย แต่ก็ต้องเจอปัญหามากมาย เช่น ฝนตกหนักจนสะพานพังลง โรคภัยไข้เจ็บของคนงาน การขาดอาหาร และฝ่ายพันธมิตรในสงคราม ทิ้งระเบิดใส่ แล้วกรรมกรเสียชีวิตจำนวนมาก รวมถึงทางรถไฟก็ถูกทำลาย กองทัพญี่ปุ่นจึงเปลี่ยนการทำงานใหม่ โดยการเกณฑ์แรงงานของเชลยศึกชาวอังกฤษ ออสเตรเลีย อเมริกัน ฮอลันดา และไอร์แลนด์ ประมาณ 50,000 คน และรวมกับกรรมกรอีกกว่า 275,000 คน มาทำการก่อสร้างทางรถไฟสายยุทธศาสตร์ผ่านประเทศพม่า ซึ่งใน ส่วนหนึ่งจะต้องข้ามแม่น้ำแควใหญ่ การสร้างในครั้งนี้ เต็มไปด้วยความยากลำบาก การวางรางรถไฟดำเนินไปจนถึงจุดที่ต้องสร้างสะพานข้าม แม่น้ำแควใหญ่ จึงมีการสร้างเป็นสะพานไม้ชั่วคราว การสร้างเป็นไปอย่างเร่งรีบ ไม่มีวันหยุด ใช้เชลยศึกผลัดกัน ตลอด 24 ชั่วโมงและมีทหารควบคุม อย่างใกล้ชิด

สะพานข้ามแม่น้ำแควชั่วคราวนี้ใช้ ระยะเวลาประมาณ 3 เดือนจึงเสร็จ แล้วเริ่มสร้างสะพานถาวร (ที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน) โดยที่เชลยศึกจะต้องยืนในน้ำ เป็นเวลานานๆ ทำให้เจ็บป่วยล้มตายเป็นจำนวนมาก โดยสะพานข้ามแม่น้ำแควนี้ ทำเป็นสะพานเหล็ก 11 ช่วง มีความยาว 300 เมตร เมื่อสร้างสะพาน ถาวรเสร็จ จึงมีการรื้อถอนสะพานชั่วคราวออก ในระหว่างที่ก่อสร้าง ถูกสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดโจมตีอยู่หลายครั้ง จนต้องสูญเสียชีวิตมนุษย์ไป 21,399 คน สาเหตุที่ทำให้คนตายเยอะขนาดนี้ เห็นจะมาจากการขาดแคลนอาหารที่เชลยจะได้กินเพียงข้าวกับปลาแห้งเพียงเล็กน้อย แพทย์ก็ไม่ พอเพียง และยังได้รับการปฏิบัติอย่างป่าเถื่อนโหดร้ายจากผู้คุมเชลยศึกและผู้ควบคุมทางรถไฟ จนกระทั่งก่อสร้างเสร็จใช้ระยะเวลาก่อสร้างทั้งหมด 17 เดือน ซึ่งต่อมาเรียกสะพานนี้ว่า “สะพานข้ามแม่น้ำแคว” สร้างความยินดีให้กับทหารญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก แต่ก็ต้องสูญเสียชีวิตคนไปเป็นจำนวนมากใน การสร้างสายรถไฟประวัติศาสตร์สายนี้ จนเรียกกันว่า “ทางรถไฟสายมรณะ” ที่ต่างเปรียบเทียบชีวิตคนที่เสียชีวิต จากการสร้างว่า “หนึ่งหมอนรถไฟต่อหนึ่งชีวิต”

ทางรถไฟที่สร้างลำบากที่สุดตอนหนึ่ง คือ บริเวณสะพานถ้ำกระแซ การก่อสร้างทางรถไฟ ในช่วงนี้ มีเทือกเขาสูงชันติดกับลำน้ำแควน้อย วิศวกรญี่ปุ่น จำเป็นต้องสร้างเลียบลำน้ำทางรถไฟจะลัดเลาะ ไปตามภูเขายาว 400 เมตร ซึ่งเป็นช่วงที่เชลยศึกต้องเสียชีวิตมากที่สุด ประมาณ 1,000 กว่าคน เป็นสะพานที่ข้ามเหวลึกที่ยาวที่สุดของเส้นทางรถไฟสายนี้ สร้างเสร็จในเวลาอันรวดเร็วมาก นักโทษเชลยศึกสงครามได้ทำงานกันอย่างบ้าคลั่ง จากคำสั่งของผู้คุมนักโทษชาวญี่ปุ่น ที่รู้จักดีในคำที่เรียกว่า “สปีดโด” (Speedo) หรือ “ทำไปอย่าหยุด” จากเดือนเมษายน 2486 การก่อสร้างดำเนิน การรุดหน้าไปเร็วมาก เนื่องด้วยฝ่ายญี่ปุ่นต้องการให้การก่อสร้างแล้วเสร็จตามความคาดหมายคือเดือนสิงหาคม ซึ่งถูกกำหนดเป็นเส้นตายของ การก่อสร้าง ห้วงเวลาดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นที่รู้จักกันในนามของห้วงเวลาแห่งความเร่งด่วน (Speedo) เชลยศึกและคนงานชาวเอเชียถูกลงโทษ ให้ทำงานจนค่ำ ที่บริเวณซึ่งทำการตัดช่องเขาขาดนั้น แสงแวบๆ จากกองไฟส่องกระทบเรือนร่าง ที่ผอมโซของคนงาน จึงเป็นที่มาของชื่อ “ช่องไฟนรก” (Hellfire Pass) หรือ “ช่องเขาขาด”

การก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะ เริ่มสถานีจากหนองปลาดุก อำเภอบ้านโป่ง จังหวัด ราชบุรี ผ่านเข้าไปยังจังหวัดกาญจนบุรี ข้ามแม่น้ำแควใหญ่ ไปทางทิศตะวันตก ผ่านเจดีย์สามองค์ จนถึงปลายทางที่ เมืองตันบีอุซายัต ประเทศพม่า โดยมีระยะทางยาวประมาณ 415 กิโลเมตร 37 สถานี สร้างเสร็จในวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2486 เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ สถานีรถไฟสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มต้นจาก สถานีท้องช้าง, ถ้ำผี, หินตก, แคนนิว, ไทรโยค, กิ่งไทรโยค, ริ่นถิ่น, กุย, หินดาด, ปรางกาสี, ท่าขนุน, น้ำโจนใหญ่, ท่ามะยอ, ตำรองผาโท้, บ้านเกรียงไกร, คุริคอนตะ, กองกุยตะ, ทิมองตะ, นิเกะ, ซองกาเลีย, และด่านเจดีย์สามองค์ เมื่อญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม กองทหารอังกฤษจึงได้ทำการรื้อถอนทางรถไฟ ในเขตพม่า ออก 30 กิโลเมตร และรื้อทางรถไฟในเขตประเทศไทยออก 6 กิโลเมตร ทำให้ทางรถไฟสาย นี้หมดสภาพการใช้งานต่อไป โดยต่อมารัฐบาลไทยได้ ขอซื้อทางรถไฟสายนี้ และวัสดุอุปกรณ์ ที่เกี่ยวข้องในราคา 1,250,000 ปอนด์ หรือ 50 ล้านบาท แล้วบูรณะจนสามารถเดินรถได้ และได้ทำการรื้อราง ออกไปบางส่วน คือ บริเวณรอยต่อชายแดนไทยพม่า ซึ่งรัฐบาลไทยสามารถบูรณะซ่อมแซม ทางรถไฟจนถึงสถานีน้ำตกเท่านั้น เพราะเส้นทางที่เหลือ รัฐบาลไทยไม่มีงบประมาณเพียงพอ ที่จะทำการซ่อมแซม ทำให้เส้นทางที่เหลือต้องทรุดโทรมอย่างหนัก จนปัจจุบันทางรถไฟที่เหลือก็กลายเป็น ป่าปกคลุมตลอดทาง

เรื่องราวในอดีตถูกรวบรวมและบอกเล่าผ่านนิทรรศการภายใน“พิพิธภัณฑ์แห่งความทรงจำ ช่องเขาขาด” ที่ออกแบบและสร้างไว้อย่างเป็นสัดส่วนโดยความร่วมมือของรัฐบาลไทยกับรัฐบาลออสเตรเลีย พิพิธภัณฑ์ฯได้รวบรวมภาพถ่าย ข้อมูล และสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ที่เกิดในระหว่างการสร้างทางรถไฟสายมรณะ นอกจากตัวอักษรและภาพประกอบที่อธิบายถึงเหตุการณ์ต่างๆ ในแต่ละช่วงแล้ว จุดเด่นหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ฯก็คือ ห้องมินิเธียร์เตอร์ ที่ฉายภาพยนตร์เงียบขาว-ดำ ซึ่งถ่ายทำจากเหตุการณ์จริงในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และแน่นอนว่าในภาพยนตร์เรื่องนี้เราจะได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ ความทุรกันดารและความโหดร้ายของการตกเป็นเชลยศึกสงคราม กว่า 12,000 ชีวิตของเชลยชาวออสเตรเลีย อังกฤษ เยอรมัน อเมริกัน และกว่า 60,000 ชีวิตของแรงงานชาวเอเชียที่ถูกบังคับให้ทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำ เพื่อตัดช่องหินผ่านภูเขา และสร้างทางรถไฟเป็นระยะทางรวมกว่า 415 กิโลเมตรทั้งๆ ที่แทบจะไม่มีเครื่องมือทุ่นแรงใดๆ เลย เชลยศึกและแรงงานส่วนใหญ่ต้องทำงานอย่างน้อยวันละ 18 ชั่วโมง และมีอาหารเพียง 2 มื้อ คือ ข้าวกับผักดองประทังชีวิตเท่านั้น ทั้งความอดอยาก การโดนทารุณทุบตี และโรคระบาดต่างๆ ที่รุมเร้า จึงทำให้ใครต่อใครขนานนามหุบเขาแห่งนี้ว่า “ช่องไฟนรก”