อนุสัญญาเจนีวา 

อนุสัญญาเจนีวา (อังกฤษ: Geneva Conventions) คือสนธิสัญญาสี่ฉบับ และพิธีสารสามฉบับที่วางมาตรฐานในการปฏิบัติต่อผู้เป็นเหยื่อของสงครามอย่างมีมนุษยธรรม ได้รับการรับรองเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2492 และเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2493 มีเป้าหมายให้การสงเคราะห์ทหาร และพลเรือนที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม โดยประสานงานใกล้ชิดกับคณะกรรมการกาชาดสากล (ไอซีอาร์ซี)

ประเทศไทยกับอนุสัญญาเจนีวา

ประเทศไทยก็เป็นภาคีในสนธิสัญญาเจนีวาด้วย และ ได้ออกกฎหมายเพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญาเจนีวาด้วย นั่นคือ พระราชบัญญัติ บังคับการให้เป็นไปตามอนุสัญญาเจนีวาเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อเชลยศึก พ.ศ. 2498 โดยมีเนื้อหาอันเป็นการช่วยคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแก่เชลยศึก อันจะเห็นได้ในบทบัญญัติ ในส่วนความผิดที่กระทำต่อ เชลยศึก

มาตรา ๑๒ ผู้ใดกระทำการทดลองชนิดใดๆ แก่เชลยศึกในทางแพทย์ทางชีววิทยา หรือทางวิทยาศาสตร์ อันไม่เป็นการสมควรแก่เหตุในการรักษาพยาบาลเชลยศึกนั้น มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามพันห้าร้อยบาท และจำคุกไม่เกินเจ็ดปี

มาตรา ๑๓ ผู้ใดขู่เข็ญ ดูหมิ่น หรือกระทำให้เชลยศึกได้รับความอัปยศหรืออปมานในตัวตนและเกียรติยศ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา ๑๔ ผู้ใดทรมานร่างกายหรือจิตใจหรือบังคับเชลยศึกด้วยประการใดๆ เพื่อจะได้มาซึ่งข้อความใดๆ จากเชลยศึก หรือคุกคาม ดูหมิ่น หรือให้ได้รับผลปฏิบัติใดอันเป็นที่เดือดร้อนรำคาญ หรือเสื่อมเสียประโยชน์ไม่ว่าประการใดๆ ในกรณีที่เชลยศึกไม่ยอมให้คำตอบมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินสามปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา ๑๕ ผู้ใดบังคับเชลยศึกให้เข้าประจำการในกองทหารศัตรูของเชลยศึกมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินห้าปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา ๑๖ ผู้ใดกระทำการใดๆ เพื่อให้เชลยศึกมิได้รับการพิจารณาคดีโดยเที่ยงธรรมหรือตามระเบียบที่กำหนดไว้ในอนุสัญญา มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินสามปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา ๑๗ ผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติในมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัตินี้ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามพันห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือทั้งปรับทั้งจำ