ความรู้เบื้องต้นด้านทรัพย์สินทางปัญญา

ภัทรชัย ลลิตโรจน์วงศ์

12 เมษายน 2545

 

 

หากคุณกำลังเขียนบทความ หรือต้องการรวบรวมและเผยแพร่เนื้อหาที่ได้เรียนจากวิชาต่างๆ ไมว่าในรูปของเอกสาร หรือประกาศบนเว็บ คุณมีความรู้ความเข้าใจทางด้านทรัพย์สินทางปัญญามากน้อยเพียงใด ในบทความนี้ ผมขอเสนอความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อที่คุณจะได้ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น ไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่ก็ตาม โดยรวมแล้ว บทความนี้จะอธิบายความหมายของทรัพย์สินทางปัญญา ลิขสิทธิ์ และ plagiarism

หลังจากที่คุณได้อ่านหัวข้อต่างๆในรายละเอียดแล้ว ก็จะเข้าใจว่า การเผยแพร่ไฟล์ MP3 ที่เป็นการบันทึกภาพ/เสียงจากการบรรยายในห้องเรียน หรือการพิมพ์ไฟล์เอกสารจากการถอดเทป โดยมิได้รับอนุญาตจากผู้บรรยาย ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ทั้งนี้จะเห็นว่าไม่ว่าจะทำซ้ำหรือดัดแปลงโดยมิได้รับอนุญาต ก็จะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ คุณจะต้องขออนุญาตจากผู้บรรยายก่อน ลองเปรียบเทียบกับตัวอย่างต่อไปนี้ สมมติว่าคุณซื้อตั๋วเข้าไปชมภาพยนตร์ แล้วทำการบันทึกภาพ และ/หรือ เสียงของภาพยนตร์ แล้วนำมาเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าของ จะถือว่าได้ละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ ทางเจ้าของภาพยนตร์สามารถฟ้องร้องคุณได้หรือไม่ แน่นอน คำตอบคือ “ใช่” ทั้งสองข้อ

สำหรับผู้ที่คิดจะรวบรวม และ/หรือ เผยแพร่ข้อสอบของแต่ละวิชาที่เรียนมา รวมถึงข้อสอบคัดเลือกเข้าและข้อสอบประมวลความรู้  ไม่ว่าเหตุผลใดก็ตาม ขอแจ้งให้ทราบว่า ข้อสอบเป็นเอกสารลับ ห้ามนำออก หรือคัดลอกข้อสอบออกจากข้อสอบ มิเช่นนั้นจะถือว่ามีความผิด  สิ่งที่คุณอาจจะสามารถกระทำได้ (ในความคิดเห็นส่วนตัวของผม) ก็คือ บอกแค่แนวข้อสอบของแต่ละวิชา หัวข้อหรือเนื้อหาที่ควรจะศึกษาหรือเน้นเป็นพิเศษ เช่นในเรื่อง database ที่ผมสอน ก็อาจจะบอกว่า ลักษณะของข้อสอบคือ จะให้โจทย์เป็น business rules ของระบบในองค์กรแห่งหนึ่ง แล้วให้ออกแบบ ER-diagram ของฐานข้อมูล สิ่งที่ควรจะรู้ เช่น เรื่องของ relationship, connectivity, weak entity, bridge entity, optional/ mandatory เป็นต้น

 

1.    ทรัพย์สินทางปัญญา

ทรัพย์สินทางปัญญา  (intellectual property) หมายถึง ผลงานอันเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม (industrial property) และ ลิขสิทธิ์ (copyright) [1]  ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม เป็นความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่เกี่ยวกับสินค้าอุตสาหกรรม เช่น ความคิดในการประดิษฐ์คิดค้น การออกแบบผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นตัวผลิตภัณฑ์ กระบวนการหรือเทคนิคการผลิต รวมทั้งชื่อและเครื่องหมายการค้า [1]  ซึ่งในบทความนี้ไม่ขอเน้นรายละเอียดในเรื่องของทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม แต่จะเน้นที่เรื่องของลิขสิทธ์ ดังจะอธิบายในหัวข้อถัดไป

 

2.    ลิขสิทธิ์

ลิขสิทธิ์ (copyright) หมายถึง “สิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใดๆ เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น เช่น วรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียง แพร่ภาพ งานอื่นใดใน(แผนก)วรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ” [2:11] รวมทั้ง สิทธิข้างเคียง (คือการนำเอางานด้านลิขสิทธิ์ออกแสดง เช่น นักแสดง ผู้บันทึกเสียงและสถานีวิทยุโทรทัศน์ในการบันทึกหรือถ่ายทอดเสียงหรือภาพ) โปรแกรมคอมพิวเตอร์  (computer program หรือ computer software) และงานฐานข้อมูล (database) [1]

“ลิขสิทธิ์ เป็นผลงานที่เกิดจากการใช้สติปัญญา ความรู้ความสามารถ และความวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์งานให้เกิดขึ้น … ดังนั้นเจ้าของผลงานทางลิขสิทธิ์จึงควรได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย” [1:33]

ลิขสิทธิ์ เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นทันทีที่มีการสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งไม่ต้องจดทะเบียน แต่การที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาจัดให้มีการบริการ”รับแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์” จึงเป็นเพียงการรวบรวมข้อมูลเบื้องต้น เพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจเป็นสำคัญ มิใช่ก่อให้เกิดสิทธิ หรือรับรองสิทธิในผลงานนั้นๆแต่อย่างใด [2]

เจ้าของลิขสิทธ์มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใดๆ ต่องานอันมีลิขสิทธิ์ของตน ดังนี้

(1)     ทำซ้ำหรือดัดแปลง

(2)     การเผยแพร่ต่อสาธารณชน

(3)     ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางาน โปรแกรมคอมพิวเตอร์ โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ และสิ่งบันทึกเสียง

(4)     ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น

(5)     อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิในการเช่าซื้อ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน และให้เช่าต้นฉบับ [1:36]

 

3.    Plagiarism

Plagiarism (verb ของ plagiarism คือ to plagiarize) คือ “the act of passing off another’s word and ideas as one’s own” [3:89] ซึ่งอาจจะแปลได้ว่า เป็นการกระทำที่นำเอาถ้อยคำหรือความคิดผู้อื่นให้เกิดความเชื่อว่าเป็นถ้อยคำหรือความคิดของตนเอง หรือที่ในพจนานุกรมอาจจะแปลว่า เป็นการใช้หรือคัดลอกความคิดหรืองานของบุคคลอื่น แล้วอ้างว่าหรือทำให้เข้าใจว่า (pretend) คุณเป็นผู้ที่คิดหรือสร้างขึ้นเอง ซึ่งอาจจะให้คำจำกัดความง่ายๆว่า เป็นการขโมยคัดลอกหนังสือ หรือการขโมยความคิด ดังนั้น หากผู้ใดจงใจที่จะขโมยถ้อยคำหรือความคิดของผู้อื่น (และโดยทั่วไปการกระทำดังกล่าวมักจะมีแรงจูงใจจากการที่จะทำให้ผู้นั้นได้รับรางวัลหรือผลตอบแทนที่เขาไม่สมควรจะได้) เช่น การที่นักศึกษาลอกรายงานของเพื่อนถือว่าเป็น plagiarism หรือการที่นักศึกษาขโมยความคิดจากหนังสือ แล้วใช้คำพูดใหม่ และถ่ายทอดเสมือนกับว่าเป็นความคิดของตนเอง ก็ถือว่าเป็น plagiarism [3]

ดังนั้น ถ้าคุณกำลังเขียนบทความวิจัย คุณจะต้องแจ้งแหล่งที่มาและผู้แต่งของความคิดหรือถ้อยคำเหล่านั้น ที่ไม่ได้มาจากความคิดของคุณเอง ประกอบอยู่ในเอกสาร

[3:89] ได้สรุปวิธีการหลีกเลี่ยง plagiarism ดังนี้

§       Provide a note for any idea borrowed from another.

§       Place a quoted material within quotation marks.

§       Provide a bibliography entry at the end of the paper for every source used in the text or in a note.

อย่างไรก็ตาม การอ้างอิงที่มาเหล่านี้ ไม่จำเป็นต้องใช้กับความรู้ทั่วไป (general or common knowledge) เช่น ในสมัยอยุธยา ไทยได้ทำสงครามกับพม่า หรือน้ำประกอบด้วยไฮโดรเจนและออกซิเจน เป็นต้น สุภาษิตหรือคำกล่าวที่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้แต่งหรือผู้พูด ก็ถือว่าเป็นความรู้ทั่วไป ไม่จำเป็นต้องอ้างอิงที่มา

[3:89-90] ได้แสดงสิ่งที่จะต้องมีการอ้างอิง (citation) เพื่อระบุถึงผู้แต่ง (author) และแหล่งที่มา (source) ดังนี้

§       Any idea derived from any known source

§       Any fact or data borrowed from the work of another

§       Any especially clever or apt expression, whether or not it says something new, that is taken from someone else

§       Any material lifted verbatim from the work of another

§       Any information that is paraphrased or summarized and used in the paper

จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าคุณจะคัดลอกถ้อยคำมาบางส่วนหรือทั้งหมด หรือใช้ถ้อยคำที่มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยจากต้นฉบับ หรือนำถ้อยคำเหล่านั้นมาสรุปหรือเรียงเรียงคำพูดใหม่ (paraphrase) คุณก็ต้องมีการอ้างอิง โดยถ้าคัดลอกข้อความนั้นมา ก็จะมีวิธีเขียนอีกแบบหนึ่ง เช่นการเขียนภายในเครื่องหมายคำพูด ถ้าไม่เกิน 3 บรรทัด หรือการขึ้นย่อหน้าใหม่ โดยพิมพ์ให้เยื้องทั้งซ้ายและขวาร่นเข้ามามากกว่าปรกติ ถ้าข้อความที่คัดลอกมาเกิน 3 บรรทัด เป็นต้น

ในคู่มือสำหรับนักศึกษาวิชาโครงการพัฒนาระบบและวิชาโครงการศึกษากรณีพิเศษ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งคู่มือเรียบเรียงวิทยานิพนธ์ของบัณฑิตวิทยาลัย สจล.ได้มีการอธิบายถึง การอ้างอิง (citation) และ การเขียนบรรณานุกรม (bibliography) ให้ลองศึกษาในรายละเอียดดู

บทความนี้ เขียนขึ้นมาด้วยความปรารถนาดี และขอขอบคุณนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่ทำให้ผมได้เขียนบทความนี้ขึ้นมา เพื่อที่จะสร้างความเข้าใจให้กับผู้อื่นต่อไป

 

 

เอกสารอ้างอิง

1.       กรมทรัพย์สินทางปัญญา. ความรู้เบื้องต้นด้านทรัพย์สินทางปัญญา. กรุงเทพฯ: อำนวยเวบพริ้นติ้ง.

2.       กรมทรัพย์สินทางปัญญา. 2544. จุลสารกรมทรัพย์สินทางปัญญา. ฉบับไตรมาสที่ 4.

3.       Winkler, Anthony C. and McCuen, Jo Ray. 1999. Writing the Research Paper: A Handbook.  5th Ed. Fort Worth, TX: Harcourt Brace College.