แนวทางการอ่านบทความวิจัยทางวิศวกรรมและเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ

 May 16, 2021

       การอ่านบทความวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพ ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในความท้าทายทั้งต่อนักศึกษาและนักวิจัย  ด้วยเนื้อหาที่มีความรวบรัดและกระชับ เนื่องจากถูกจำกัดด้วยจำนวนหน้า และผู้อ่านเฉพาะกลุ่มที่ถือว่ามีความรู้ในสายงานวิจัยดังกล่าวอยู่แล้ว ยิ่งไปกว่านี้แล้วหากมีเวลาในการอ่านที่จำกัด ก็ส่งผลให้การทำความเข้าใจกับสาระสำคัญของบทความวิจัยมีความยากลำบากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับผู้เริ่มต้น  ด้วยเหตุนี้การอ่านบทความวิจัยเพื่อให้ได้รับสาระสำคัญภายใต้ข้อจำกัดข้างต้น จึงต้องอาศัยกลยุทธ์และวิธีการในการอ่านที่มีประสิทธิภาพ  ซึ่งเนื้อหาในบทความนี้เป็นการนำเสนอขั้นตอนและวิธีการอ่านบทความวิจัยอย่างมีแบบแผนที่ชัดเจนและวัดผลได้ โดยจะมุ่งเน้นไปที่บทความวิจัยทางด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งสามารถนำวิธีการที่นำเสนอไปประยุกต์ใช้กับบทความวิจัยในสายงานอื่น ๆ ได้เช่นเดียวกัน

.

องค์ประกอบโดยทั่วไปของบทความวิจัย

       การที่จะอ่านบทความวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น สิ่งสำคัญอันดับแรกที่ผู้อ่านจำเป็นทราบก่อนก็คือ เป้าหมายของการอ่านคืออะไร โดยตอบคำถามสองข้อดังนี้คือ 1—สิ่งที่ต้องการจากบทความนั้นคืออะไร อาทิ ปัญหาวิจัย, วิธีการแก้ไขปัญหา, ข้อค้นพบ หรืออ่านเพื่ออัพเดตองค์ความรู้ เป็นต้น  2—สิ่งที่ต้องการดังกล่าวนั้นปรากฎอยู่ในส่วนใดของบทความวิจัย   ด้วยเหตุนี้การทราบถึงองค์ประกอบภายในบทความวิจัยจึงช่วยให้สามารถบรรลุเป้าหมายของการอ่านได้โดยง่าย แม้ว่าบทความวิจัยจะอยู่ในรูปแบบที่ย่นย่อและรวบรัดก็ตาม แต่องค์ประกอบแต่ละส่วนของบทความวิจัยโดยทั่วไปเกือบทั้งหมดจะมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน โดยแบ่งได้เป็น 3 ส่วนหลักดังนี้คือ

ส่วนของบทนำ —เนื้อหาในบทนำจะเป็นส่วนที่ระบุถึงความเป็นมาและความสำคัญของงานวิจัย และเป็นส่วนที่แสดงให้เห็นถึงเค้าโครงของสิ่งนำเสนอทั้งหมดในบทความ ตั้งแต่ปัญหาวิจัย วิธีการตอบคำถามวิจัย รวมไปถึงข้อค้นพบ และประโยชน์ที่ได้จากงานวิจัย

ส่วนของเนื้อหาหลัก —เนื้อหาในส่วนนี้เป็นสาระสำคัญที่งานวิจัยต้องการนำเสนอ  โดยแสดงให้เห็นถึงรายละเอียดของเทคนิค วิธีการ หรือกระบวนการขั้นตอนที่นำเสนอ  รวมไปถึงรายละเอียดวิธีการประเมินความน่าเชื่อถือของงานวิจัยที่นำเสนอทั้งในเชิงการให้เหตุผลหรือการทดลอง  ซึ่งเนื้อหาในส่วนนี้อาจประกอบไปด้วยหัวข้อหลักหรือหัวข้อย่อยที่แตกต่างกันไปตามรูปแบบของเนื้อหา หรือรูปแบบการเขียนของแต่ละผู้เขียน

ส่วนของการสรุปและวิพากษ์ —คือส่วนที่แสดงถึงบทสรุปและบทวิพากษ์  ซึ่งประกอบด้วยเนื้อหาที่แสดงถึงการทบทวนวรรณกรรม งานวิจัยหรือทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับสาระสำคัญที่นำเสนอในบทความ   เนื้อหาที่แสดงถึงการให้ข้อสรุปถึงสาระสำคัญที่นำเสนอ การให้ความเห็นต่อข้อค้นพบของงานวิจัยทั้งจุดเด่นและจุดด้อย และการเสนอแนะแนวทางการดำเนินงานวิจัยต่อไปในอนาคต

แนวทางปฏิบัติสำหรับการอ่านบทความวิจัยให้มีประสิทธิภาพ

1. กำหนดเป้าหมายในการอ่าน

—อ่านเพื่อหาแนวคิด หรือเพื่อคัดกรองงานวิจัยที่สนใจ (ตัวอย่าง: หาไอเดีย, อัพเดตองค์ความรู้)

—อ่านเพื่อสรุปสาระสำคัญ หรือประเมินความน่าเชื่อถือเบื้องต้น (ตัวอย่าง: ทบทวนวรรณกรรม)

—อ่านเพื่อนำไปใช้งาน, หาข้อโต้แย้ง, หาช่องว่างวิจัย (ตัวอย่าง: การหาคู่เทียบ; Benchmarking)

2. อ่านเพื่อหาแนวคิด (ระดับที่ 1)

—ทำความเข้าใจกับเนื้อหาในส่วนต่อไปนี้อย่างละเอียด

1. ชื่อบทความวิจัย(Title)

2. บทคัดย่อ(Abstract)

3. บทนำ(Introduction)

4. หัวข้อหลักและหัวข้อย่อย(Section & sub-section) โดยไม่ต้องอ่านเนื้อหาภายใต้หัวข้อ

5. บทสรุปและวิพากษ์(Conclusion)

—ทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับบทความ จากรายการอ้างอิง(References)

—ตอบคำถามหลังการอ่าน ดังต่อไปนี้

3. อ่านเพื่อสรุปสาระหลักทั้งหมดและประเมินความน่าเชื่อถือเบื้องต้น (ระดับที่ 2)

บันไดขั้นที่ 2 —การอ่านเนื้อหาทั้งหมดของบทความวิจัย โดยละเว้นส่วนที่บรรยายเกี่ยวกับรายละเอียด อาทิ การพิสูจน์ทฤษฎี มีวัตถุประสงค์เพื่อสรุปสาระหลักทั้งหมดของบทความ และรวบรวมหลักฐานที่แสดงถึงความน่าเชื่อถือของบทความ  แนวทางการอ่านนี้เหมาะกับการศึกษางานวิจัยที่อยู่ในความสนใจ แต่อาจไม่อยู่ในความเชี่ยวชาญเฉพาะ  ทั้งนี้อาจใช้เวลาอ่านไม่เกิน 1 ช.ม.  โดยมีขั้นตอนการอ่านดังนี้คือ

1) ทำความเข้าใจ รูปภาพ กราฟแสดงผล ตารางข้อมูล ที่นำเสนอ และตรวจดูความถูกต้องของคำบรรยายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด อาทิ เช่น สเกลของกราฟ หน่วยการวัด คำบรรยายใต้ภาพ ชื่อตาราง เป็นต้น  ซึ่งขั้นตอนนี้จะช่วยให้ทราบถึงระดับความน่าเชื่อถือของบทความ และสามารถใช้เป็นเกณฑ์ตัดสินได้ว่าควรอ่านเนื้อหาในส่วนที่เหลือหรือไม่

2) อ่านเนื้อหาทั้งหมดยกเว้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพิสูจน์ทฤษฎี โดยพยายามสรุปสาระหลักที่นำเสนอในแต่ละหัวข้อให้ได้ตามประเด็นดังนี้คือ

2.1 ที่มาและความสำคัญของงานวิจัย คืออะไร

2.2 สาระสำคัญที่นำเสนอในบทความวิจัยคืออะไร

2.3 เครื่องมือ/หลักฐาน ที่ใช้ยืนยันความน่าเชื่อถือของสาระสำคัญที่นำเสนอ คืออะไร

2.4 จุดเด่น จุดด้อย ข้อค้นพบ ที่ไม่ได้ถูกกล่าวถึงในบทความวิจัย คืออะไร

2.5 ประโยชน์ที่ได้รับจากงานวิจัยที่นำเสนอ คืออะไร

2.6 โอกาสและความท้าทายของงานวิจัยในอนาคต คืออะไร

2.7 ข้อคำถามหรือข้อโต้แย้งส่วนตัว ที่มีต่อบทความวิจัยคืออะไร

2.8 รวบรวมรายการเอกสารอ้างอิง(References) ที่น่าสนใจและยังไม่เคยอ่าน

3) เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของสาระหลักที่ได้สรุปไว้(ข้อ2.1-2.7) โดยอาจสรุปให้อยู่ในรูปแบบของบทคัดย่อจากมุมมองส่วนตัวที่มีความยาวประมาณ 500 คำ

4) หากไม่สามารถทำความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาในบทความวิจัยได้ อาจมีสาเหตุมาจาก

4.1) เนื้อหาที่นำเสนอเป็นเรื่องที่ใหม่ หรืออยู่นอกเหนือความเชี่ยวชาญส่วนตัว อาจใช้คำศัพท์เฉพาะด้านหรือตัวย่อที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน

4.2) ใช้รูปแบบการเขียน หรือวิธีการนำเสนอเนื้อหาที่เฉพาะตัว

4.3) บทความไม่มีคุณภาพเพียงพอ

4.4) ความล้าจากการอ่าน

5) กรณีที่ไม่สามารถทำความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาในบทความวิจัยได้ อาจใช้แนวทางจัดการดังนี้

5.1) เพิ่มความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับตัวงานวิจัย โดยการอ่านบทความที่เป็นที่มาของงานวิจัย จากรายการเอกสารอ้างอิง หรือจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้บนอินเทอร์เน็ต หลังจากนั้นจึงกลับมาอ่านบทความวิจัยหลักอีกครั้ง

5.2) ปรึกษา หรือสอบถามผู้เชี่ยวชาญในสายงานที่ตรงกับงานวิจัยที่นำเสนอในบทความวิจัย

5.3) เพิ่มเวลาในการอ่านและทำความเข้าใจอีกครั้ง

5.4) ละทิ้งบทความวิจัยดังกล่าว

4. อ่านเพื่อนำไปใช้งาน, หาช่องว่างของงานวิจัย (ระดับที่ 3)

บันไดขั้นที่ 3 —การอ่านและสร้างความเข้าใจต่อเนื้อหาของบทความแต่ส่วนโดยปราศจากข้อสงสัยในทุกแง่มุม  มีวัตถุประสงค์เพื่อจำลอง ทำซ้ำ และเปรียบเทียบข้อค้นพบกับงานวิจัยที่นำเสนอ ซึ่งจะทำให้สามารถยืนยันหรือข้อโต้แย้งต่อสาระสำคัญที่ถูกนำเสนอได้ นอกจากนี้ยังอาจนำไปสู่การค้นพบสาระสำคัญอื่น ๆ ที่ถูกมองข้ามไป ทั้งด้านบวกและด้านลบ อาทิ เช่น อุปสรรค ความท้าทาย และโอกาส ที่มีต่องานวิจัยในภายภาคหน้า

Sidebar