Microsoft Azure Open Cloud Innovation อันดับ 2

จากโครงการการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 17: NSC 2015″(The Seventeenth National Software Contest: NSC 2015)โครงการที่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการกระตุ้นให้นักเรียน นิสิต นักศึกษาได้มีโอกาสพัฒนาทักษะการพัฒนาซอฟต์แวร์และนำเอาความรู้ที่ได้เรียนมาประยุกต์ใช้ในการสร้างสรรค์ผลงาน โดยสนับสนุนเงินทุนเพื่อเป็นแรงจูงใจและกระตุ้นให้นักเรียน นิสิต นักศึกษาทำการพัฒนาซอฟต์แวร์ด้วยตนเองและเปิดโอกาสให้มีการประกวดแข่งขันชิงเงินรางวัลในระดับประเทศ อันจะเป็นการสร้างเวทีสำหรับเยาวชนและผู้ที่สนใจในการพัฒนาความรู้สู่การเป็นนักวิจัยระดับอาชีพต่อไป ซึ่งได้จัดการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศไปเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา ณ ห้องไอส์แลนด์ฮอลล์ ชั้น 3 ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ โดยในปีนี้ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) หนึ่งในผู้สนับสนุนโครงการ ได้มีรางวัลพิเศษให้กับทีมผู้เข้าแข่งขันจำนวน 2 รางวัลด้วยกันคือ Microsoft Azure Open Cloud Innovationและ Windows App Studio Junior Challenge (สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาเท่านั้น) โดยทั้ง 2 รางวัลจะแบ่งเป็น อันดับที่ 1 และอันดับที่ 2

นักศึกษาคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ประกอบด้วย นายหาญนรินทร์ เครือจิรายุส์/ นายเอก ตั้งสมบูรณ์/นายนนท์ คนึงสุขเกษม ได้คว้ารางวัล Microsoft Azure Open Cloud Innovation อันดับที่ 2 มาครอง โดยจะได้รับรางวัล Microsoft BizSpark แพคแกจสำหรับก่อตั้งธุรกิจฟรี ประกอบด้วยซอฟท์แวร์จากไมโครซอฟต์ มูลค่า $40,000 พร้อมทั้งสิทธิ์การใช้งาน Microsoft Azure เป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งมีมูลค่า $5,600 จากบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย)

โดยผลงานที่ได้ส่งเข้าแข่งขันมีชื่อว่า“การพัฒนาระบบค้นคืนสารสนเทศสาหรับการค้นหาข้อมูลแบบกลุ่มความร่วมมือ”โดยใช้ชื่อระบบว่า “CoZpace” ได้แนวคิดมาจาก การค้นหาข้อมูลในปัจจุบันมีการใช้งานแบบแยกกันเป็นรายบุคคล แต่งานบางงานอาจจะต้องการการค้นหาร่วมกัน เพื่อให้งานสำเร็จเร็วขึ้น หรือแม้กระทั่งบางงานที่ต้องการความคิดเห็นจากหลายๆคน ทางทีมงานจึงได้ทำงานวิจัยในหลายๆด้านจนได้รับการยอมรับและตีพิมพ์ในการประชุมวิชาการหลายฉบับ จนกระทั่งระบบได้รับการพัฒนาให้มีความสามารถในการช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถค้นหาข้อมูลร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยผู้ใช้งานสามารถระบุความเกี่ยวข้องของแต่ละเว็บไซด์ที่ได้จากการค้นหาพร้อมทั้งสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมที่เกี่ยวกับเว็บไซด์นั้นได้ และยังสามารถตัดเฉพาะส่วนที่สนใจจากหน้าเว็บไซด์เก็บไว้ได้ เพื่อให้ผู้ร่วมค้นหาสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ดียิ่งขึ้นโดยไม่ต้องเสียเวลาไปกับข้อมูลเดิมที่ถูกค้นหาไปแล้วจากผู้ร่วมค้นหาคนอื่น ซึ่งสามารถดูกิจกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นในกลุ่มการค้นหาได้ นอกจากนี้ผู้ร่วมค้นหาแต่ละคนยังสามารถสื่อสารกันได้ผ่านทางช่องสนทนาในระบบ และผู้ใช้งานแต่ละคนสามารถสร้างและจัดการกลุ่มการค้นหาสำหรับแต่ละงาน จะเห็นว่าจากความสามารถทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นถูกรวมอยู่ในระบบซึ่งสามารถเข้าใช้งานได้จากทุกที่ทุกเวลาผ่านทางเว็ปไซด์ทำให้ผู้ใช้งานสามารถค้นหาข้อมูลร่วมกันได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น

ไอเดียดีๆ ของนักศึกษากลุ่มนี้เพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถทำให้ผลงานชิ้นนี้สำเร็จขึ้นได้ ดร.ธีรพงศ์ ลีลานุภาพ อาจารย์ที่ปรึกษาของนักศึกษาทีมนี้ เป็นอีกหนึ่งบุคคลสำคัญในการผลักดันให้ผลงานชิ้นนี้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ ด้วยความเอาใจใส่ในการติดตามและการแนะนำองค์ความรู้ต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ในการต่อการผลิตผลงานชิ้นนี้ จึงทำให้ผลงานออกมาสมบูรณ์จนเข้าตาคณะกรรมการจากทาง บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย)

เด็กกลุ่มนี้ยังบอกอีกด้วยว่าทางคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สจล. ได้มีส่วนช่วยสนับสนุนให้ผลงานของพวกเขาเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนทางด้านอุปกรณ์เครื่องมือ ตลอดจนเทคโนโลยีต่างๆ อีกด้วย